อีกหนึ่งปัญหาอมตะที่อยู่คู่กรุงเทพฯ คือ “ฝนตก-น้ำท่วมขังรอการระบาย” บนถนนหลายสาย ทั้งสายหลักและสายรอง ซึ่งการจราจรคับคั่ง บางครั้งใช้เวลาเดินทางคูณเป็น 2-3 เท่า นานกว่าปกติ ทำให้ "คนกรุง" หลายคนมีความหวัง ตั้งตารอคอย “ตัวช่วยสำคัญ” ที่จะทำให้ “ปัญหาน้ำท่วม” ทุเลาเบาบางลง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า “ยากที่จะแก้ไข” หากทุกคนไม่ร่วมมือร่วมใจกัน “ทำในสิ่งที่ควรกระทำ” อย่างเช่นไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะขยะชิ้นใหญ่อย่างที่นอน โต๊ะ เก้าอี้ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่ไม่ต้องการแล้ว ถูกทิ้งไม่เป็นที่ จึงไปขวางทางระบายน้ำ แถมยังมีบางส่วนลอยไปติดตะแกรงหน้าสถานีสูบน้ำ นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่มีกระทบต่อทุกคน
โดย กรุงเทพมหานคร (กทม.) แบ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมออกเป็น 2 ระบบ ดังนี้ 1.ระบบป้องกันน้ำท่วม ก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมปิดล้อมพื้นที่ เพื่อป้องกันน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง อาทิ คันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา, คันกั้นน้ำฝั่งตะวันออก 2.ระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน ก่อสร้างระบบระบายน้ำในพื้นที่ออกสู่แม่น้ำพระยาและอ่าวไทยโดยเร็วผ่านระบบระบายน้ำต่าง ๆ อาทิ ประตูระบายน้ำ, ท่อระบายน้ำ, แก้มลิง, สถานีสูบน้ำ, อุโมงค์ระบายน้ำ และคูคลอง โดยทางรัฐบาลมอบหมายให้ กทม. ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำในถนนสายหลักกรุงเทพฯ ทั้งหมด 11 จุด มีระยะเวลาเฉลี่ย 1 ปีครึ่ง
ทั้งนี้ ในปัจจุบันรอบกรุงเทพฯ มีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์ สาย 2, อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน, อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว และอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วเปิดใช้ไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 5 แห่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ี่มีปัญหาน้ำท่วม จะได้สามารถเร่งระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง แบบไม่ต้องผ่านระบบคลองตามปกติ วิธีนี้จะช่วยลดระดับน้ำในคลองระบายน้ำสายสำคัญให้มีระดับต่ำได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนความคืบหน้า “โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา” บริเวณสถานีสูบน้ำบางอ้อ เขตบางนา สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินโครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาว 9.4 กิโลเมตร ความลึก 30 เมตร โดยแนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำบางอ้อและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ ในแนวเส้นทางระหว่างทางที่อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลอดผ่าน จะมีการก่อสร้างปล่องรับน้ำและอาคารรับน้ำ เพื่อรวบรวมน้ำในคลองต่างๆ ที่อุโมงค์ลอดผ่านจะช่วยให้ระบายลงสู่ระบบอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับอาคารรับน้ำ 7 แห่ง ประกอบด้วย อาคารรับน้ำบึงหนองบอน อาคารรับน้ำคลองหนองบอน อาคารรับน้ำคลองเคล็ด อาคารรับน้ำคลองหลอด กิโลเมตร 3 (อุดมสุข 56) อาคารรับน้ำคลองหลอด กิโลเมตร 2 (อุดมสุข 42) อาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท 66/1 อาคารรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1 สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อ ขนาดกำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และอาคารทิ้งน้ำ 1 แห่ง สำหรับงานเจาะอุโมงค์จากปล่องรับน้ำบึงหนองบอนไปยังปล่องรับน้ำสุขุมวิท 101/1 เริ่มเจาะวันที่ 16 ก.ย.62 ระยะทางทั้งหมด 5,468 เมตร ทำได้ 1,022 เมตร ส่วนงานเจาะอุโมงค์จากปล่อง Inlet สถานีสูบน้ำบางอ้อไปยังปล่องสุขุมวิท 101/1 เริ่มเจาะวันที่ 12 พ.ย.61 ระยะทางทั้งหมด 2,963 เมตร ทำได้ 2,944 เมตร ขณะนี้ผลงานการก่อสร้างอุโมงค์ทำได้ 60.58% เมื่อโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนอ่อนนุช ถนนอุดมสุข ถนนสุขุมวิท เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่เขตประเวศ เขตสวนหลวง เขตพระโขนง เขตบางนา และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง คาดว่าอุโมงค์ระบายน้ำดังกล่าวจะแล้วเสร็จสมบูรณ์สามารถเปิดใช้งานได้ประมาณปลายปี 64
ขณะที่อุโมงค์ระบายน้ำซึ่งได้รับงบประมาณปี 63 มี 3 แห่ง ดังนี้ อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนา และอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบลาดพร้าวถึงซอยลาดพร้าว 130 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างของบประมาณปี 64 จำนวน 1 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี
หาก “คนกรุง” จะหวังพึ่ง “อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ” เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถแก้ไข “ปัญหาน้ำท่วม” ได้อย่างเบ็ดเสร็จทุกอย่างทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องทำ “ควบคู่” ไปพร้อมกับการสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาร่วมกัน เนื่องจากเราต้องอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ใช้ทรัพยากรร่วมกับผู้อื่น ดังนั้น การกระทำของคนบางคน หรือบางกลุ่ม อาจสร้างปัญหาให้แก่คนอีกหลายคนที่ต้องอยู่ร่วมกันในเมือง จึงไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของทุกคน ต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน.
"การติดตั้งเสร็จสมบูรณ์" - Google News
July 07, 2020 at 10:30AM
https://ift.tt/3e3oBy4
'อุโมงค์ยักษ์'อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เอาไว้ใช้แก้'น้ำท่วมกทม.' - เดลีนีวส์
"การติดตั้งเสร็จสมบูรณ์" - Google News
https://ift.tt/2BfqeLa
Home To Blog
No comments:
Post a Comment